วันอังคารที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2556

บทที่ 9 วันสำคัญทางศาสนาพุทธ

บทที่ 9
วันสำคัญทางศาสนาพุทธ


วันมาฆบูชา     

 
ไม่ทำชั่ว  ทำแต่ความดี  ทำจิตใจให้ผ่องใส
        วันมาฆบูชาเป็นวันที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทานพระโอวาทสำคัญอันถือได้ว่าเป็นหัวใจของคำสอนในพระพุทธศาสนา คือ โอวาทปาฏิโมกข์ ในวันเพ็ญ (ขึ้น ๑๕ ค่ำ) เดือนสาม ดวงจันทร์โคจรมาเสวยมาฆฤกษ์ แต่ถ้าปีใดมี อธิกมาส คือ เดือนแปดสองแปด วันมาฆบูชาก็จะเลื่อนไปเป็นวันเพ็ญกลางเดือนสี่ เหตุการณ์ดังกล่าวนี้เกิดขึ้นที่ พระเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ รัฐมคธ ในปีแรกของการตรัสรู้ของพระพุทธองค์ คือ หลังจากตรัสรู้แล้วได้ ๙ เดือน    ความประจวบกันพอดีของเหตุการณ์ในวันนี้ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่อัศจรรย์ มีสี่ประการคือ
        ประการแรก  เป็นการมาชุมนุมกันของพระสงฆ์สาวก จำนวน ๑,๒๕๐ รูป เพื่อเฝ้าพระบรมศาสดา โดยมิได้นัดหมาย
        ประการที่สอง  พระสงฆ์สาวกดังกล่าวล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น
        ประการที่สาม  พระสงฆ์สาวกดังกล่าวล้วนแต่ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าด้วยวิธี เอหิภิกขุอุปสัมปทา
        ประการที่สี่   วันนั้นดวงจันทร์เพ็ญเสวยมาฆฤกษ์เต็มบริบูรณ์
        ความพร้อมกันขององค์สี่ประการจึงเรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต
        โอวาทปาฏิโมกข์  ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเป็นการประมวลคำสอนหลักของพระพุทธศาสนา เพื่อให้


วันวิสาขบูชา

     ความหมาย คำว่า "วิสาขบูชา" หมายถึงการบูชาในวันเพ็ญเดือน ๖   วิสาขบูชา ย่อมาจาก " วิสาขปุรณมีบูชา " แปลว่า " การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ " ถ้าปีใดมีอธิกมาส คือ มีเดือน ๘ สองหน ก็เลื่อนไปเป็นกลางเดือน ๗
     ความสำคัญ วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญยิ่งทางพระพุทธศาสนา เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ คือเกิด  ได้ตรัสรู้ คือสำเร็จ  ได้ปรินิพพาน คือดับขันธ์ เกิดขึ้นตรงกันทั้ง ๓ คราว คือ    
     ๑. เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะ ประสูติที่พระราชอุทยานลุมพินีวัน ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับเทวทหะ เมื่อเช้าวันศุกร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีจอ ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี
     ๒. เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะ ตรัสรู้ เป็นพระพุทธเจ้าเมื่อพระชนมายุ ๓๕ พรรษา ณ ใต้ร่มไม้ศรีมหาโพธิ์ ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ในตอนเช้ามืดวันพุธ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีระกา ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี หลังจากออกผนวชได้ ๖ ปี ปัจจุบันสถานที่ตรัสรู้แห่งนี้เรียกว่า พุทธคยา เป็นตำบลหนึ่งของเมืองคยา แห่งรัฐพิหารของอินเดีย
     ๓. หลังจากตรัสรู้แล้ว ได้ประกาศพระศาสนา และโปรดเวไนยสัตว์ ๔๕ ปี พระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา ก็เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน เมื่อวันอังคาร ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะเส็ง ณ สาลวโนทยาน ของมัลลกษัตริย์ เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ (ปัจจุบันอยู่ในเมือง กุสีนคระ) แคว้นอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย
     นับว่าเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง ที่เหตุการณ์ทั้ง ๓ เกี่ยวกับวิถีชีวิตของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งมีช่วงระยะเวลาห่างกันนับเวลาหลายสิบปี บังเอิญเกิดขึ้นในวันเพ็ญเดือน ๖  ดังนั้นเมื่อถึงวันสำคัญ เช่นนี้ ชาวพุทธทั้งคฤหัสถ์ และบรรพชิตได้พร้อมใจกันประกอบพิธีบูชาพระพุทธองค์เป็นการพิเศษ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณ พระปัญญาธิคุณ และพระบริสุทธิคุณ ของพระองค์ท่าน ผู้เป็นดวงประทีปของโลก



อาสาฬหบูชา

แสดงปฐมเทศนาแก่พระปัญจวัคคีย์
ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
            วันอาสาฬหบูชา  เป็นวันที่สมเด็จพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แสดง พระปฐมเทศนา หรือการแสดงพระธรรมครั้งแรก หลังจากที่ตรัสรู้ได้ ๒ เดือน เป็นวันที่เริ่มประดิษฐานพระพุทธศาสนาเนื่องจากมีองค์ประกอบของ  พระรัตนตรัยครบถ้วนคือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี ในวันเพ็ญ (ขึ้น ๑๕ ค่ำ) เดือน ๘ ดวงจันทร์ เสวยมาฆฤกษ์
            การแสดงพระปฐมเทศนา ได้ทรงแสดงแก่ปัญจวัคคีย์  ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ปัจจุบันคือสารนาถ เมืองพาราณสี พระธรรมที่แสดงคือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เมื่อเทศนาจบ พระโกณฑัญญะ หนึ่งในปัญจวัคคีย์ ผู้ประกอบด้วย พระโกณฑัญญะ พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานาม และพระอัสสชิ  ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม มีความเห็นแจ้งชัดดังนี้ว่า
ยํ กิญฺจิ สมุทยธมฺมํ      สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมนฺติ

 

            เมื่อได้ดวงตาเห็นธรรมจึงขออุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าก็ประทานอุปสมบทให้ ด้วยวิธีที่เรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา โดยกล่าวคำว่า เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด พระโกณฑัญญะจึงเป็นพระปฐมสาวก พระอริยสงฆ์องค์แรก
พระปัญจวัคคีย์ ขอบรรพชา
ดวงตาเห็นธรรม ขออุปสมบทเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา
คำว่าธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แปลว่าสูตรของการหมุนวงล้อแห่งพระธรรมให้เป็นไป  มีความโดยย่อว่า
            ที่สุด ๒ อย่างที่บรรพชิตไม่ควรประพฤติปฏิบัติคือ การประกอบตนให้อยู่ในความสุขด้วยกาม(กามสุขัลลิกานุโยค) ซึ่งเป็นธรรมอันเลวเป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์,   ที่สุดอีกทางหนึ่งคือ การประกอบการทรมานตนให้เกิดความลำบาก(อัตตกิลมถานุโยค) ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
            การดำเนินตามทางสายกลาง  ไม่เข้าไปใกล้ที่สุดทั้งสองอย่างนั้น เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้  ด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาและญาณให้เกิด เป็นไปเพื่อความสงบระงับ ความรู้ยิ่ง ความตรัสรู้ และนิพพาน ทางสายกลาง ได้แก่ อริยมรรค มีองค์แปด คือ ปัญญาอันเห็นชอบ  ดำริชอบ เจรจาชอบ  การงานชอบ  เลี้ยงชีพชอบ  พยายามชอบ  ระลึกชอบ  และตั้งใจหรือตั้งมั่นชอบ,  อริยสัจสี่ คือความจริงอันประเสริฐที่พระองค์ค้นพบ มี ๔ ประการได้แก่  
               ความทุกข์ ได้แก่ ความเกิด ความแก่ ความตาย ความได้พบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้น ว่าโดยย่อ อุปาทานในขันธ์ ๕ เป็นทุกข
               สาเหตุแห่งทุกข์(สมุทัย)  ได้แก่ ตัณหาความทะยานอยาก อันทำให้เกิดอีกความกำหนัด เพลิดเพลินในอารมณ์ คือกามตัณหา ความทะยานอยากในกาม ภวตัณหา ความทะยานในภพ วิภวตัณหา ความทะยานอยากในความไม่มีภพ
               ความดับทุกข์(นิโรธ)  โดยการดับตัณหาด้วยอริยมรรค คือ วิราคะ สละ ดับ ปล่อยไป ไม่พัวพัน
               หนทางปฏิบัติเพื่อดับทุกข์(มรรค)  ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘ คือ ความเห็นชอบ๑  ความดำริชอบ๑  การเจรจาชอบ๑  การกระทำชอบ๑  การเลี้ยงชีพชอบ๑  ความพยายามชอบ๑  การระลึกชอบ๑  และการตั้งจิตมั่นชอบ๑
                    ดวงตา ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแก่พระองค์ว่า
                    นี้คือทุกข์(๑)    อันควรกำหนดรู้ (๒)   และพระองค์ได้กำหนดรู้แล้ว(๓)
                    นี้คือสาเหตุแห่งทุกข์(๔)    อันควรละ(๕)    และพระองค์ได้ละแล้ว(๖)
                    นี้คือความดับทุกข์(๗)    อันควรทำให้แจ้ง(๘)    และพระองค์ได้ทำให้แจ้งแล้ว(๙)
                    นี้คือหนทางดับทุกข์(๑๐)    อันควรเจริญ(๑๑)    และพระองค์ได้เจริญแล้ว(๑๒)
            สรุปได้ว่า ปัญญาอันรู้เห็นแจ้งชัดตามความเป็นจริงในอริยสัจ ๔  มีรอบ ๓  จึงมีอาการ ๑๒   คือ
ขั้นแรก รู้ว่าอริยสัจแต่ละอย่างนั้นเป็นอย่างไร  
ขั้นที่สอง รู้ว่าควรจะทำอย่างไรในอริยสัจแต่ละประการนั้น  
และขั้นที่ ๓ พระองค์ได้ กระทำตามนั้นสำเร็จเสร็จแล้ว  (รายละเอียดอยู่ในบทอริยสัจ ๔)
            พระองค์ทรงเน้นว่า จากการที่พระองค์ทรงค้นพบ คือตรัสรู้อริยสัจ ๔ ประการนี้ การที่พระองค์ทรงกล้าปฏิญญา   ว่าเป็นผู้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เพราะพระองค์ได้รู้เห็นแจ้งชัดตามความเป็นจริง ในอริยสัจ ๔ มี รอบ ๓ มีอาการ ๑๒ อย่างหมดจดดีแล้ว
            เมื่อพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า  ทรงประกาศพระธรรมจักร ให้เป็นไปแล้ว ได้มีการบันลือต่อ ๆ กันไปให้ทราบทั่วกันว่า พระธรรมอันยอดเยี่ยมที่พระองค์ทรงประกาศให้เป็นไปแล้ว ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตเมืองพาราณสี อันใคร ๆ ในโลกจะปฏิวัติไม่ได้
            วันอาสาฬหบูชามีเหตุการณ์สำคัญในทางพระพุทธศาสนาอยู่ ๓ ประการคือ
            ๑.  เป็นวันแรกที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระศาสนา โดยทางแสดงพระปฐมเทศนา คือ ธรรมจักกัปปวัตนสูตร   ประกาศสัจธรรมอันเป็นองค์แห่งพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณที่พระองค์ตรัสรู้ ให้เป็นที่ประจักษ์แก่ สรรพสัตว์ทั้งหลาย
            ๒. เป็นวันแรกที่บังเกิดพระอริยสงฆ์สาวกขึ้นในโลก คือ พระโกณฑัญญะ เมื่อได้ฟังพระปฐมเทศนาจบ ได้ดวงตาเห็นธรรม ได้ทูลขออุปสมบท และพระพุทธเจ้าได้ประทานอุปสมบทให้ด้วยวิธีเอหิภิกษุอุปสัมปทา ในวันนั้น
            ๓. เป็นวันแรกที่บังเกิดพระรัตนตรัย คือ พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตน และพระสังฆรัตนะ ขึ้นในโลกอย่างสมบูรณ์บริบูรณ์
เข้าพรรษา

    "เข้าพรรษา" แปลว่า "พักฝน" หมายถึง พระภิกษุสงฆ์ต้องอยู่ประจำ ณ วัดใดวัดหนึ่งระหว่างฤดูฝน โดยเหตุที่พระภิกษุในสมัยพุทธกาล มีหน้าที่จะต้องจาริกโปรดสัตว์ และเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนแก่ประชาชนไปในที่ต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องมีที่อยู่ประจำ แม้ในฤดูฝน ชาวบ้านจึงตำหนิว่าไปเหยียบข้าวกล้าและพืชอื่นๆ จนเสียหาย พระพุทธเจ้าจึงทรงวางระเบียบการจำพรรษาให้พระภิกษุอยู่ประจำที่ตลอด 3 เดือน ในฤดูฝน คือ เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี ถ้าปีใดมีเดือน 8 สองครั้ง ก็เลื่อนมาเป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือนแปดหลัง และออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เว้นแต่มีกิจธุระจำเป็นซึ่งเมื่อเดินทางไปแล้วไม่สามารถจะกลับได้ในเดียว นั้น ก็ทรงอนุญาตให้ไปแรมคืนได้ คราวหนึ่งไม่เกิน 7 คืนเรียกว่า สัตตาหะ หากเกินกำหนดนี้ถือว่าไม่ได้รับประโยชน์ แห่งการจำพรรษา จัดว่าพรรษาขาด ระหว่างเดินทางก่อนหยุดเข้าพรรษา หากพระภิกษุสงฆ์เข้ามาทันในหมู่บ้านหรือในเมืองก็พอจะหาที่พักพิงได้ตาม สมควร แต่ถ้ามาไม่ทันก็ต้องพึ่งโคนไม้ใหญ่เป็นที่พักแรม ชาวบ้านเห็นพระได้รับความลำบากเช่นนี้ จึงช่วยกันปลูกเพิง เพื่อให้ท่านได้อาศัยพักฝน รวมกันหลาย ๆองค์ ที่พักดังกล่าวนี้เรียกว่า "วิหาร" แปลว่าที่อยู่สงฆ์ เมื่อหมดแล้ว พระสงฆ์ท่านออกจาริกตามกิจของท่านครั้งถึงหน้าฝนใหม่ท่านก็กลับมาพักอีก เพราะสะดวกดี แต่บางท่านอยู่ประจำเลย บางทีเศรษฐีมีจิตศัรทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ก็เลือกหาสถานที่สงบเงียบไม่ห่างไกลจากชุมชนนัก สร้างที่พัก เรียกว่า "อาราม" ให้เป็นที่อยู่ของสงฆ์ดังเช่นปัจจุบันนี้
     โดยปรกติเครื่องใช้สอยของพระตามพุทธานุญาตให้มีประจำตัวนั้น มีเพียงอัฏฐบริขารอันได้แก่ สบง จีวร สังฆาฏิ เข็ม บาตร รัดประคด หม้อกรองน้ำ และมีดโกน และกว่าพระท่านจะหาที่พักแรมได้ บางทีก็ถูกฝนต้นฤดูเปียกปอนมา ชาวบ้านที่ใจบุญจึงถวายผ้าอาบน้ำฝนสำหรับให้ท่านได้ผลัดเปลี่ยน และถวายของจำเป็นแก่กิจประจำวันของท่านเป็นพิเศษในเข้าพรรษานับเป็นเหตุให้มีประเพณีทำบุญเนื่องในวันนี้สืบมา 
     การที่พระภิกษุสงฆ์ท่านโปรดสัตว์อยู่ประจำเป็นที่เช่นนี้ เป็นการดีสำหรับสาธุชนหลายประการ กล่าวคือ ผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามพระพุทธบัญญัติก็นิยมบวชพระ ส่วนผู้ที่อายุยังไม่ครบบวชผู้ปกครองก็นำไปฝากพระ โดยบวชเป็นเณรบ้าง ถวายเป็นลูกศิษย์รับใช้ท่านบ้าง ท่านก็สั่งสอนธรรม และความรู้ให้ และโดยทั่วไป พุทธศาสนิกชนนิยมตักบาตรหรือไปทำบุญที่วัด นับว่าเป็นประโยชน์
     การปฏิบัติตน ในวันนี้หรือก่อนวันนี้หนึ่งวัน พุทธศาสนิกชนมักจะจัดเครื่องสักการะเช่น ดอกไม้ ธูปเทียน เครื่องใช้ เช่น สบู่ ยาสีฟัน เป็นต้น มาถวายพระภิกษุ สามเณร ที่ตนเคารพนับถือ ที่สำคัญคือ มีประเพณีหล่อเทียนขนาดใหญ่เพื่อให้จุดบูชาพระประธานในโบสถ์อยู่ได้ตลอด 3 เดือน มีการประกวดเทียนพรรษา โดยจัดเป็นขบวนแห่ทั้งทางบกและทางน้ำ
     แม้ การเข้าพรรษาจะเป็นเรื่องของภิกษุ แต่พุทธศาสนิกชนก็ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้ ทำบุญรักษาศีลและชำระจิตใจให้ผ่องใส ก่อนวันเข้าพรรษาชาวบ้านก็จะไปช่วยพระทำความสะอาดเสนาสนะ ซ่อมแซมกุฏิวิหารและอื่นๆ พอถึง วันเข้าพรรษาก็จะไปร่วมทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ ฟังธรรมและรักษาอุโบสถศีลกันที่วัด บางคนอาจตั้งใจงดเว้น อบายมุขต่างๆ เป็นกรณีพิเศษ เช่น งดเสพสุรา งดฆ่าสัตว์ เป็นต้น อนึ่ง บิดามารดามักจะจัดพิธีอุปสมบทให้บุตรหลาน ของตนโดยถือกันว่าการเข้าบวชเรียนและอยู่จำพรรษาในระหว่างนี้จะได้รับ อานิสงส์อย่างสูง 

ออกพรรษา

เสด็จกลับจากดาวดึงส์์
        วันออกพรรษา  ตรงกับวันเพ็ญ (ขึ้น ๑๕ ค่ำ) เดือน ๑๑ เป็นวันที่พระภิกษุสงฆ์ออกจากจำพรรษา หรือการอยู่ประจำที่ตลอดฤดูฝน เป็นระยะเวลา ๓ เดือน ต่อจากวันนี้ไปพระภิกษุสงฆ์ก็สามารถจาริกไปในที่ต่าง ๆ และค้างแรมในที่อื่นได้
        วันออกพรรษานี้มีการทำปวารณาในหมู่พระภิกษุสงฆ คือให้พระภิกษุสงฆ์ทำปวารณาแทนการทำอุโบสถ์สังฆกรรม ยอมให้ว่ากล่าวตักเตือนซึ่งกันและกัน ต่างรูปต่างกล่าวคำปวารณาตามลำดับอาวุโส มีใจความว่า
สงฺฆมฺภนฺเต  ปวาเรมิ  ทิฏฺเฐน  วา  สุเตน  วา  ปริสงฺกาย  วา  วทนฺตุ  มํ  อายสฺมนฺโต  อนุกมฺปํ  อุปาทาย  ปสฺสนฺโต  ปฏิกฺกริสฺ สามิ ฯ
        ข้าพเจ้าขอปวารณาต่อพระสงฆ์ด้วยได้ยินก็ดี ได้ฟังก็ดี สงสัยก็ดี ขอท่านทั้งหลายจงอาศัยความกรุณาว่ากล่าว ข้าพเจ้า
เมื่อข้าพเจ้าสำนึกได้จักทำคืนเสีย แล้วจักสำรวมระวังต่อไป
(กล่าว ๓ ครั้ง)
        ใน วันออกพรรษาตามประวัติหรือตำนานกล่าวว่า เป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หลังจากที่ได้เสด็จไปจำพรรษาและแสดงพระธรรมเทศนาโปรดพระพุทธมารดาการเสด็จลง จากดาวดึงส์ครั้งนั้น ได้เสด็จลงมา ณ เมืองสังกัสสะ  บรรดาพุทธศาสนิกชนจึงพากันไปตักบาตรแด่พระพุทธเจ้า เรียกว่า ตักบาตรเทโว คำเต็มคือ ตักบาตรเทโวโรหนะ  คำว่าเทโวโรหนะ แปลว่า การหยั่งลงจากเทวโลก
   
วันธรรมสวนะ



วันพระ

  นอกจากวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาดังกล่าวแล้ว  ยังมีวันธรรมสวนะ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า 
 “วันพระ”  โดยนับ
วันขึ้น ๘ ค่ำ
แรม ๘ ค่ำ
วันขึ้น ๑๕ ค่ำ (วันเพ็ญ)
แรม ๑๕ ค่ำ (หากเดือนใดเป็นเดือนขาด ถือเอาวันแรม ๑๔ ค่ำ)
ของทุกเดือน เป็นวันที่ชาวพุทธมาบำเพ็ญกุศลให้กับตนเอง  วันธรรมสวนะนี้มีมาแต่ครั้งพุทธกาล ซึ่งถือเป็นวันบำเพ็ญกุศลของชาวพุทธทั่วไป
        ในวันพระ พุทธศาสนิกชนถือเป็นวันสำคัญ ที่ควรไปวัดเพื่อทำบุญ ถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ และฟังธรรม หรือถือศีล สำหรับผู้ที่เคร่งครัดในศาสนาอาจถือศีลแปดในวันพระด้วย นอกจากนี้ชาวพุทธยังถือว่าวันพระไม่ควรทำบาปใดๆ
        วันโกน เป็นภาษาพูด หมายถึง วันก่อนวันพระ ๑ วัน
ประวัติความเป็นมา
        ในสมัยพุทธกาล พระเจ้าพิมพิสารได้เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และกราบทูลว่านักบวชศาสนาอื่น มีวันประชุมสนทนาเกี่ยวกับหลักธรรมคำสั่งสอนในศาสนาของเขา แต่ว่าศาสนาพุทธยังไม่มี พระพุทธองค์จึงทรงอนุญาติให้ภิกษุสงฆ์ประชุมสนทนาและแสดงธรรมเทศนาแก่ประชาชน ในวัน ๘ ค่ำ ๑๔ ค่ำ และ ๑๕ ค่ำ ดังกล่าว
        พุทธศาสนิกชนจึงถือเอาวันดังกล่าวเป็น วันธรรมสวนะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น