วันอาทิตย์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2556

บทที่ 8 ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์



  บทที่ 8
ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์


          เศรษฐศาสตร์  เป็นวิชาที่ศึกษาถึงพฤติกรรมของมนุษย์ในสังคม เกี่ยวกับการเลือกใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด  เพื่อผลิตสินค้าและบริการไปบำบัดความต้องการของมนุษย์อันมีอยู่อย่างไม่จำกัด  เศรษฐศาสตร์ แบ่งออกเป็น 2 แขนง คือ เศรษฐศาสตร์จุลภาค เป็นการศึกษาเศรษฐกิจหน่วยย่อย และเศรษฐศาสตร์มหภาค เป็นการศึกษาเศรษฐกิจส่วนรวม ทั้ง 2 แขนง มีความสัมพันธ์กัน และมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน นอกจากนี้ เศรษฐศาสตร์ยังมีความสัมพันธ์กับวิชาอื่น ๆ เช่น บริหารธุรกิจ รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ และจิตวิทยา เป็นต้น
          ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์  แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ตามที่เป็นจริง เป็นการศึกษาเพื่อให้รู้ว่าอะไรคืออะไร และทฤฎีเศรษฐศาสตร์ตามที่ควรจะเป็น เป็นการศึกษาเพื่อตัดสินว่าคุณค่าของสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีผลกระทบต่อสังคมอย่างไร
          การศึกษาเศรษฐศาสตร์ มี 2 วิธี คือ วิธีอนุมาน เป็นการศึกษาจากสาเหตุไปหาผล และวิธีอุปมาน เป็นการศึกษาจากผลเพื่อหาสาเหตุ ทุกสังคมในโลกล้วนมีปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เนื่องจากมีปัจจัยการผลิตจำกัด ทำให้ต้องมีการตัดสินใจว่า จะใช้ปัจจัยการผลิตนั้นไปเพื่อเลือกผลิตอะไร ใช้กรรมวิธีผลิตอย่างไร และจะแบ่งปันสินค้าและบริการที่ผลิตได้ไปให้ใครบ้าง
          เศรษฐศาสตร์เป็นวิชาที่มีประโยชน์มาก เพราะเกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตประจำวันของมนุษย์ ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะผู้ผลิต เจ้าของปัจจัยการผลิต หรือผู้บริโภค
             ระบบเศรษฐกิจ  หมายถึง  กลุ่มของสถาบันทางเศรษฐกิจ (Economic Institution) ซึ่งมีการกระทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายของกลุ่ม สถาบันทางเศรษฐกิจนี้ประกอบด้วย สถาบันการผลิต  การค้า  การเงิน  การธนาคาร และอื่นๆ ทำหน้าที่กำหนดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น จะผลิตอะไร  ผลิตด้วยกรรมวิธีใด  และแจกจ่ายผลิตผลให้แก่ใครบ้าง  กล่าวอีกนัยหนึ่ง ระบบเศรษฐกิจเกิดขึ้นเพื่อการกระทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันในการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ  ซึ่งเกิดจากปัจจัยต่างๆ ที่มีอยู่ไม่สามารถสนองความต้องการทุกอย่างของมนุษย์ได้  สถาบันทางเศรษฐกิจจึงทำหน้าที่ควบคุมหน่วยเศรษฐกิจต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจเพื่อมิให้มีการขัดแย้งกัน  ก่อให้เกิดระเบียบและหาแนวทางที่ดีในการแก้ไขปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ


สาเหตุการเกิดระบบเศรษฐกิจ
            เนื่องจากประชากรในประเทศต่างๆ มีความต้องการที่จะบริโภคสินค้าและบริการอย่างไม่มีที่สิ้นสุด  ในขณะที่ทรัพยากรในประเทศมีจำนวนจำกัด (Scarcity) จึงต้องอาศัยตัวบุคคลในฐานะของหน่วยเศรษฐกิจ (Economic unit) เป็นผู้ดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับการผลิต  การซื้อขายแลกเปลี่ยน  การจำหน่ายจ่ายแจกผลผลิต  รวมทั้งการบริโภคผลผลิตเหล่านั้นอย่างมีประสิทธิภาพ  แต่เนื่องจากในสังคมของประเทศหนึ่งๆ ย่อมจะมีประชากรจำนวนมากอยู่รวมกัน จึงจำเป็นจะต้องมีกฎระเบียบต่างๆ ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณี เพื่อควบคุมให้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของสมาชิกในสังคมให้เป็นไปอย่างมีระเบียบแบบแผน  และเพื่อเป็นการป้องกันมิให้เกิดการขัดแย้งหรือเกิดเป็นปัญหาที่ลุกลามใหญ่โต  จึงเกิดมีสถาบันขึ้นมา ซึ่งประกอบด้วยหน่วยเศรษฐกิจแบบต่างๆ เช่น สถาบันทางเศรษฐกิจ  สถาบันทางการเมือง  สถาบันทางการปกครอง  สถาบันศาสนา  และอื่นๆ  สถาบันเหล่านี้เมื่อรวมกันเข้าในกลุ่มที่เกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กัน ก็ก่อให้เกิดระบบเศรษฐกิจ (Economic System)


รูปแบบจำลองการก่อกำเนิดของระบบเศรษฐกิจ




อุปสงค์ คือ จำนวนสินค้าและบริการที่ผู้ซื้อต้องการซื้อ ณ ระดับราคาต่าง ๆหรือ ณ ระดับรายได้ต่าง ๆ หรือ ณ ระดับราคาสินค้าอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยปกติจะให้ความสำคัญกับเรื่องระดับราคามากที่สุด และเมื่อราคาสินค้าเปลี่ยนแปลงไป จำนวนซื้อสินค้าและบริการชนิดนั้นก็จะเปลี่ยนแปลงในทิศทางตรงกันข้ามเสมอ ที่เป็นเช่นนี้เพราะผลของราคาซึ่งประกอบด้วยผลของการทดแทนกัน และผลของรายได้
          เส้นอุปสงค์สามารถสร้างได้จากข้อมูลในตารางอุปสงค์ ซึ่งจะแสดงความสัมพันธ์ระหว่างราคา และปริมาณซื้อ โดยปกติเส้นอุปสงค์จะเป็นเส้นทอดลงจากซ้ายไปขวา เส้นอุปสงค์สามารถเปลี่ยนแปลงไปทั้งเส้น โดยอยู่ทางขวามือหรือทางซ้ายมือของเส้นเดิมก็ได้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดอุปสงค์อื่น ๆ ที่ไม่ใช่ราคา ว่าจะเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะที่ทำให้จำนวนซื้อมากขึ้นหรือน้อยลง
          อุปทาน  คือ  จำนวนสินค้าและบริการที่ผู้ขายต้องการขาย  ณ ระดับราคาต่าง ๆ ซึ่งจำนวนขายจะเปลี่ยนแปลงในทางเดียวกันกับราคาที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นเส้นอุปทานซึ่งเป็นเส้นที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างราคาและจำนวนขาย จึงเป็นเส้นทอดขึ้นจากซ้ายไปขวา เส้นอุปทานสามารถเปลี่ยนแปลงไปทางซ้ายมือหรือขวามือของเส้นเดิมได้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดอุปทานอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ราคา ว่าจะเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะที่จะทำให้จำนวนขายมากขึ้นหรือน้อยลง
          ราคาดุลยภาพ  เป็นราคาที่ทำให้จำนวนเสนอซื้อ (อุปสงค์) เท่ากับจำนวนเสนอขาย (อุปทาน) ราคาใด ๆ ที่ต่ำกว่าราคาดุลยภาพจะทำให้เกิดอุปสงค์ส่วนเกิน และราคาใด ๆ ที่สูงกว่าราคาดุลยภาพจะทำให้เกิดอุปทานส่วนเกิน ราคาดังกล่าว จะปรับเข้าสู่ราคาดุลยภาพและราคาจะไม่เปลี่ยนแปลง นอกจากจะมีการเคลื่อนย้ายเส้นอุปสงค์ และ/หรืออุปทาน ซึ่งอาจทำให้ราคาดุลยภาพใหม่ และ/หรือปริมาณดุลยภาพใหม่สูงขึ้นหรือลดลง
          โดยปกติรัฐบาลจะปล่อยให้กลไกราคาทำงานไปตามลำพัง โดยไม่เข้าไปควบคุมราคา ยกเว้นในกรณีที่จำเป็นซึ่งกลไกราคาไม่สามารถปรับตัวได้ทัน มาตรการที่ใช้รัฐบาลจะเข้าแทรกแซงกลไกของราคาในตลาด เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมมี 2 มาตรการ คือ การกำหนดราคาขั้นต่ำ (การประกันราคา) ซึ่งจะกระทำเพื่อยกระดับราคาของสินค้าที่เป็นอยู่ให้สูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้ารายการที่สำคัญ เป็นการช่วยเหลือผู้ผลิตหรือผู้ขาย อีกมาตรการก็คือ การกำหนดราคาขั้นสูง เป็นมาตรการที่ใช้กำหนดราคาสินค้าไม่ให้สูงเกินเพดาน จะใช้ในระหว่างเกิดขาดแคลนสินค้า ซึ่งการขาดแคลนสินค้าทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนผู้บริโภคเดือดร้อน
 การผลิต  เป็นกระบวนการแปรรูปปัจจัยการผลิตให้เป็นสินค้าและบริการ
          อรรถประโยชน์ หมายถึง ความพึงพอใจที่ผู้บริโภคจะได้รับจากการบริโภคสินค้าหรือบริการชนิดใดชนิดหนึ่ง ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง
          อรรถประโยชน์ของสินค้าหรือบริการ  เป็นสิ่งที่ผู้ผลิตหรือเจ้าของปัจจัยการผลิตต้องนำมาพิจารณาว่า สินค้าหรือบริการนั้น ๆ จะสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค หรือมีอรรถประโยชน์ต่อผู้บริโภคมากน้อยเพียงใด
          ปัจจัยการผลิต ได้แก่ เจ้าของที่ดิน  หมายถึงที่นำมาใช้ในการประกอบกิจการต่าง ๆ เช่น ที่ตั้งสำนักงาน เจ้าของแรงงาน  หมายถึง การทำงานทุกชนิดของมนุษย์ทั้งที่ใช้แรงงานกำลังความคิด ความสามารถ ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ในการผลิตสินค้าหรือบริการ เจ้าของทุน  หมายถึง เครื่องมือเครื่องใช้หรือเงินทุนที่ใช้ในการซื้อหาปัจจัยการผลิตอื่น ๆ  ผู้ประกอบการ  หมายถึง บุคคลที่หรือกลุ่มบุคคลที่จัดตั้งองค์การผลิตขึ้น เพื่อผลิตสินค้าและบริการ
          ผลตอบแทนของเจ้าของปัจจัยการผลิต  ในระบบการผลิตซึ่งต้องอาศัยปัจจัยการผลิต จึงจะทำให้ได้รับผลผลิตตามที่ต้องการ และสามารถนำออกจำหน่ายสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ สำหรับเจ้าของปัจจัยการผลิตนั้นก็จะได้รับผลตอบแทนดังนี้ เจ้าของทุน  ค่าตอบแทนเป็นดอกเบี้ย  เจ้าของแรงงาน  ค่าตอบแทนเป็นค่าจ้าง เจ้าของที่ดิน  ค่าตอบแทนเป็นค่าเช่า ผู้ประกอบการ ค่าตอบแทนเป็นกำไร
          ต้นทุนการผลิต หมายถึง ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิต เนื่องจากการใช้ปัจจัยการผลิตต่าง ๆ  ต้นทุนการผลิตสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ ต้นทุนคงที่ เป็นต้นทุนที่เกิดจากค่าใช้จ่ายประจำที่ไม่ผันแปรไปตามปริมาณการผลิต ไม่ว่าจะผลิตสินค้าหรือบริการในปริมาณมากหรือน้อยเพียงใด ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายในจำนวนที่คงที่ เช่น ค่าเช่าที่ดิน ต้นทุนผันแปร เป็นค่าใช้จ่ายที่ผันแปร ซึ่งจะมีปริมาณรายจ่ายมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณการผลิต ถ้าผลิตในปริมาณมากก็จะเสียต้นทุนมาก ถ้าผลิตปริมาณน้อยก็จะเสียต้นทุนน้อย และถ้าไม่
    ตลาดในทางเศรษฐศาสตร์ หมายถึง การที่ผู้ซื้อและผู้ขายสามารถตกลงซื้อขายสินค้าและบริการกันได้
          ปัจจัยที่กำหนดขนาดของตลาด  ได้แก่ ลักษณะของสินค้า  รวมถึงรูปร่างของสินค้า การบริการ  สีสัน ขนาด ตรา การสื่อสารและการคมนาคม ถ้าสินค้าใดที่สามารถขนส่งจากมือผู้ผลิตไปยังมือผู้บริโภคด้วยระบบการขนส่งที่สะดวกรวดเร็วและประหยัด ย่อมทำให้ตลาดของสินค้านั้นขยายกว้างออกไป ถ้าการสื่อสารดี ก็จะทำให้การติดต่อถึงกันสะดวกและรวดเร็ว สามารถตกลงเจรจาการค้ากันทางการสื่อสารได้ ทำให้ตลาดขยายกว้างขวางยิ่งขึ้น นโยบายของรัฐบาล  ที่เกี่ยวข้องกับตลาดของสินค้าและบริการจะมีผลทำให้ขอบเขตของตลาดขยายหรือแคบลงได้  ความต้องการของตลาด  ตลาดจะขยายตัวออกไปได้กว้างขวางเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้บริโภคที่มีต่อสินค้านั้น ๆ  การกระจายรายได้ของประชาชนในประเทศนั้น ๆ  ถ้าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศยากจน มีรายได้ต่ำ การขยายตัวของตลาดสินค้าบางชนิดจะทำได้ยาก  ขนบธรรมเนียมประเพณีและความเชื่อ  การบริโภคสินค้านั้น ๆ ในบางครั้งก็มีผลสืบเนื่องมาจากความเชื่อทางศาสนาหรือวัฒนธรรมด้วย 
          ลักษณะของตลาดที่มีการแข่งขันอย่างสมบูรณ์  จะต้องมีลักษณะสำคัญ ดังนี้ มีผู้ซื้อและผู้ขายจำนวนมาก  สินค้าที่ซื้อขายกันมีลักษณะและคุณภาพเหมือนกันทุกประการ  ผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องมีความรู้เรื่องสภาวะตลาดเป็นอย่างดี  การติดต่อซื้อขายจะต้องกระทำได้สะดวกรวดเร็ว  ผู้ผลิดรายใหม่จะมีเสรีภาพเข้ามาดำเนินการผลิตในตลาดได้โดยสะดวก
          ลักษณะของตลาดที่มีการแข่งขันอย่างไม่สมบูรณ์  ซึ่งจำแนกออกเป็น  3 ชนิด ย่อย ๆ คือ ตลาดผูกขาดหรือตลาดผู้ขายเพียงรายเดียว  ตลาดประเภทนี้จะมีผู้ขาย ผู้ผลิตเพียงรายเดียว ทำให้สามารถกำหนดราคา ปริมาณการผลิต การจำหน่ายได้อย่างสมบูรณ์แบบ  ตลาดผู้ขายน้อยราย  จะมีผู้ขายไม่มากราย แต่ละรายจะขายสินค้าเป็นจำนวนมาก เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณสินค้าทั้งหมดในตลาด  ตลาดกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด  ผู้ขายแต่ละรายจะมีอิสระในการกำหนดราคาและจำนวนผลิต โดยไม่กระทบกระเทือนต่อผู้ผลิตรายอื่น
พฤติกรรมผู้บริโภค  เป็นการศึกษาถึงการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการของผู้บริโภคแต่ละคน แต่ละกลุ่ม ว่าใช้เหตุผลอะไรเป็นเครื่องตัดสินใจในการแสวงหาสินค้ามาสนองความต้องการ และได้รับความพึงพอใจมากที่สุด
          ทฤษฎีพฤติกรรมผู้บริโภค แบ่งออกเป็น 2 ทฤษฎีทฤษฎีอรรถประโยชน์ เป็นทฤษฎีที่ศึกษาประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ผู้บริโภคจะได้รับจากการบริโภค โดยศึกษาความพอใจของผู้บริโภคที่เกิดจากการบริโภคสินค้าและบริการสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ในระยะเวลาหนึ่ง โดยตั้งสมมุติในการวัดความพึงพอใจออกมาเป็นตัวเลข   ทฤษฎีเส้นความพอใจเท่ากัน  เป็นทฤษฎีที่อธิบายความพึงพอใจของผู้บริโภคด้วยการเปรียบเทียบความพอใจ แทนที่จะเป็นการวัดความพึงพอใจออกมาเป็นตัวเลข กล่าวคือ ผู้บริโภคสามารถบอกได้แต่เพียงว่าชอบสินค้าหรือบริการนั้น ๆ มากกว่า น้อยกว่าหรือเท่ากับสินค้าหรือบริการชนิดอื่น ๆ โดยไม่สามารถระบุความแตกต่างออกมาเป็นตัวเลขได้
   รายได้ประชาชาติ  หมายถึง มูลค่าเป็นตัวเงินของสินค้าและบริการขั้นสุดท้าย ตามราคาตลาดที่ผลิตขึ้นด้วยทรัพยากรของประเทศ ในระยะเวลา 1 ปี
          รายได้ประชาชาติ คำนวณได้ 3 วิธี คือ
               1.  การคำนวณจากด้านผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นการรวมมูลค่าของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายที่ประเทศผลิตขึ้น ในระยะเวลา 1 ปี
               2.  การคำนวณจากด้านรายได้ เป็นการรวมรายได้ทุกประเภทที่เจ้าของปัจจัยการผลิตได้รับจากการขายปัจจัยให้แก่ ผู้ผลิต
               3.  การคำนวณจากด้านรายจ่าย เป็นการคำนวณโดยการนำรายจ่ายของประชาชนในการซื้อสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายรวมกัน ในระยะเวลา 1 ปี
          ตัวเลขรายได้ประชาชาติ  มีความสำคัญและมีความจำเป็นอย่างยิ่ง สำหรับการศึกษาสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศ  การกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ  การเงิน  และการคลังของประเทศ ขณะเดียวกัน ก็มีข้อจำกัดในการใช้ตัวเลขรายได้ประชาชาติ และเป็นเครื่องวัดประสิทธิภาพในการผลิตของประเทศ และสวัสดิการทางเศรษฐกิจ

เงินเฟ้อ หมายถึง ภาวะที่ระดับราคาสินค้าและบริการทั่ว ๆ ไป โดยเฉลี่ยสูงขึ้นเรื่อย ๆ  สาเหตุของเงินเฟ้อ มี 2 ประการ คือ เกิดจากอุปสงค์ตึง และเกิดจากต้นทุนผลัก เมื่อเกิดเงินเฟ้อจะมีผลกระทบต่อการกระจายรายได้ ความต้องการถือเงิน การสะสมทุน การคลังของรัฐบาล และการค้าระหว่างประเทศ การแก้ไขเงินเฟ้อ ทำได้โดยลดอุปสงค์มวลรวมลง
          เงินฝืด  หมายถึง  ภาวะที่ระดับราคาสินค้าและบริการทั่ว ๆ ไป ลดลงเรื่อย ๆ  เงินฝืดเกิดขึ้นเนื่องจากอุปสงค์มวลรวมลดลง เงินฝืดจะทำให้การลงทุนลดลง การจ้างงานลดลง และการว่างงานจะมากขึ้น  การแก้ไขปัญหาเงินฝืด ทำได้โดยกระตุ้นให้อุปสงค์มวลรวมเพิ่มขึ้น
           ภาวะเงินเฟ้อและเงินฝืด   สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศด้อยพัฒนา ประเทศพัฒนา หรือประเทศอุตสาหกรรม ถ้าเป็นภาวะเงินเฟ้อและเงินฝืดอย่างอ่อน ๆ ย่อมเกิดผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ แต่ถ้าเกิดภาวะเงินเฟ้อและเงินฝืดอย่างปานกลางและอย่างรุนแรงแล้ว ย่อมสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจอย่างมากต่อประเทศชาติ  การแก้ไขไม่สามารถกระทำให้สำเร็จลุล่วงในระยะเวลาอันสั้น นอกจากใช้นโยบายทางการเงินและการคลังแล้ว ประชาชนในประเทศจะต้องร่วมมือด้วย เพราะประเทศชาติเป็นเรื่องของคนเป็นจำนวนมาก ไม่เหมือนกับระบบครอบครัว ซึ่งแก้ไขได้รวดเร็วกว่า
   วัฏจักรเศรษฐกิจ  หมายถึง การเปลี่ยนแปลงขึ้นลง ซ้ำ ๆ กันของเศรษฐกิจ ซึ่งมี 4 ระยะ คือ ระยะรุ่งเรือง  ระยะถดถอย  ระยะตกต่ำ  และระยะฟื้นตัว  ในแต่ละระยะมีเหตุการณ์ทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน  ในแต่ละระยะไม่จำเป็นต้องใช้เวลาเท่ากันเสมอไป และอาจใช้เวลาในแต่ละช่วงอยู่ระหว่าง 2 - 5 ปี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงในภาวะเศรษฐกิจ 
          สาเหตุการเกิดวัฏจักรเศรษฐกิจ  เกิดจากสาเหตุภายนอกระบบเศรษฐกิจ และสาเหตุภายในระบบเศรษฐกิจ จึงไม่สามารถบังคับไม่ให้เกิดวัฏจักรเศรษฐกิจได้ แต่เมื่อเกิดวัฏจักรเศรษฐกิจในระยะที่ไม่พึงปรารถนาแล้ว ก็สามารถป้องกันและแก้ไขได้โดยใช้นโยบายการเงิน และนโยบายการคลัง เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจไว้

ประเทศส่วนใหญ่ในโลกนี้จำเป็นจะต้องมีการติดต่อสัมพันธ์กัน โดยเฉพาะการติดต่อสัมพันธ์กันทางเศรษฐกิจทั้งด้านการค้า การลงทุน การคมนาคมขนส่ง การท่องเที่ยว และการส่งคนงานไปทำงานในต่างประเทศ การติดต่อกันดังกล่าวจะทำให้มีเงินตราไหลเข้าและไหลออกนอกประเทศ ทำให้เกิดการขาดดุล-เกินดุลการค้า ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบของมูลค่าส่งออกและมูลค่านำเข้าสินค้า ดุลบัญชีเดินสะพัดซึ่งเป็นการเปรียบเทียบมูลค่าส่งออก-นำเข้า หรือดุลการค้าและดุลบริการ ซึ่งเป็นรายได้จากการท่องเที่ยว การประกันภัย และการขนส่งระหว่างประเทศ เพื่อรวมทั้งสองส่วนกับเงินโอน เงินบริจาค เงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ และเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ก็จะเป็นรายการของดุลการชำระเงิน ซึ่งหมายถึง รายรับจากต่างประเทศทั้งหมด โดยทั่วไปประเทศกำลังพัฒนามักขาดดุลการค้าประเทศที่พัฒนาแล้ว เนื่องจากมูลค่าการส่งออกสินค้าของประเทศกำลังพัฒนาซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าขั้นปฐมพวกแร่ธาตุและผลผลิตการเกษตร และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีง่าย ๆ มีมูลค่าต่ำกว่าสินค้านำเข้าจากประเทศพัฒนาแล้วที่มักจะเป็นสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูงกว่า อย่างไรก็ตาม ประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศอาจมีดุลการชำระเงินเกินดุล เพราะมีการลงทุนหรือมีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเข้ามามาก สำหรับประเทศไทยตกอยู่ในภาวะขาดดุลการค้า ดุลการชำระเงินมานาน จนกระทั่งหลังวิกฤตการณ์เศรษฐกิจประเทศไทยก็เริ่มเกินดุลการค้าและดุลการชำระเงิน แนวทางที่นิยมใช้ในการแก้ไขการขาดดุลการค้าและการขาดดุลชำระเงิน ได้แก่ การลดค่าเงิน การตั้งกำแพงภาษี การกีดกันการค้ารูปแบบต่าง ๆ การส่งเสริมการส่งออก และการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ   


  การพัฒนาเศรษฐกิจ  เป็นกระบวนการที่ทำให้รายได้ต่อบุคคลที่แท้จริง ของคนในประเทศเพิ่มขึ้นในระยะยาว โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์มากที่สุด  
          ประเทศต่าง ๆ จำเป็นต้องพัฒนาเศรษฐกิจ โดยมีจุดมุ่งหมายที่สำคัญ เพื่อการยกระดับมาตรฐานการครองชีพของประชาชนให้สูงขึ้น การวัดว่าประเทศมีการพัฒนาเศรษฐกิจอยู่ในระดับใดขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งเครื่องมือสำคัญ คือ รายได้ต่อบุคคล และหลักเกณฑ์อื่น ๆ ที่ไม่ใช่เศรษฐกิจ ซึ่งค่าใช้จ่าย หรือรายได้ต่อบุคคลเป็นเครื่องวัดฐานะทางเศรษฐกิจ ซึ่งสามารถแบ่งประเทศต่าง ๆ ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ ประเทศด้อยพัฒนา ประเทศกึ่งพัฒนา และประเทศพัฒนาแล้ว
          ประเทศด้อยพัฒนา  มีลักษณะสำคัญคือ ระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชนต่ำ ประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม อัตราเกิดสูง มีคนว่างงานมาก การออมมีน้อย ขาดแคลนทุน ประสิทธิภาพการผลิตต่ำ และต้องพึ่งพาอาศัยต่างประเทศมาก
          ปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ  ขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐาน 4 ประการ ได้แก่ ปริมาณและคุณภาพของประชากร ปริมาณทรัพยากรธรรมชาติ การสะสมทุน และความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
          แผนพัฒนาเศรษฐกิจของไทย  ประเทศไทยได้เริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2504 โดยแผนพัฒนาฯ แต่ละฉบับ มีจุดเน้นแต่ละแผนดังนี้
          แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 1     เน้นการเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานทาง  เศรษฐกิจ
          แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 2     เน้นการพัฒนาสังคมควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ
          แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 3     เน้นความร่วมมือของราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น และเปิดโอกาสให้เอกชนได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น
          แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 4     เน้นความปลอดภัยมั่นคง

          แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 5     เน้นในเรื่องการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ ตลอดจนการแก้ไขปัญหาความยากจนในชนบท
          แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 6     เน้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพื่อแก้ปัญหาดุลการค้า การคลังและการว่างงาน ตลอดจนความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ และการตกต่ำทางฐานะของเกษตรกร
          แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 7     เน้นการกระจายรายได้ และการกระจายการพัฒนาไปสู่ภูมิภาคและชนบทให้กว้างขวางยิ่งขึ้น รวมทั้งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ
          แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8     เน้นการพัฒนาศักยภาพของคน
          แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9     ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวทาง
  ลักษณะโครงสร้างเศรษฐกิจไทยได้เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมาก ตามแนวทางของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมหรือเสรีที่เน้นเรื่องความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหลัก การเร่งผลิตทำให้ต้องพึ่งพาการส่งออก นำเข้า และการเงินระหว่างประเทศ เกิดการใช้ปัจจัยการผลิตและทรัพยากรธรรมชาติอย่างไร้ประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดปัญหาการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่สมดุลและยั่งยืนตามมา เกิดปัญหาการขาดแคลนเงินทุน แรงงานไร้ทักษะและฝีมือ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ขาดการวิจัยและพัฒนาเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับการผลิต ฯลฯ รัฐบาลจึงต้องกำหนดยุทธศาสตร์ นโยบาย และมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโดยรีบด่วนก่อนที่จะเป็นปัญหาเรื้อรังจนแก้ไขไม่ได้
          ระบบเศรษฐกิจของไทยได้เน้นการเจริญเติบโตและการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นหลักทำให้ต้องพึ่งพาการส่งออก นำเข้า และการเงินระหว่างประเทศ เพื่อเร่งการลงทุนและการผลิตในประเทศ และใช้ปัจจัยการผลิตและทรัพยากรธรรมชาติอย่างไร้ประสิทธิภาพ โดยไม่มีการผลิตทดแทนทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนตามมา ถึงแม้ไทยจะประสบผลสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับหนึ่ง แต่ก็ประสบปัญหาการกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม ปัญหาความยากจนของประชาชนที่ไม่ได้รับส่วนแบ่งในผลประโยชน์ของการพัฒนา ในระดับรัฐบาลจึงต้องเข้ามาหาแนวทางแก้ไขปัญหา เพื่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจแบบสมดุลและยั่งยืนในระยะยาว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น