วันพุธที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2556

บทที่ 14 การเปลี่ยนแปลงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้



บทที่ 14

การเปลี่ยนแปลงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


     เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีวัฒนธรรมและความเจริญในความเป็นอาณาจักรต่าง ๆ ในอดีตมากมาย ตลอดจนรับอารยธรรมอินเดียและจีนเข้ามามีอิทธิพลด้านศาสนา ศิลปวัฒนธรรม การเมือง
    
ชาติตะวันตกเดินทางในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในศตวรรษที่ 16 และแข่งขันการค้ากับอาหรับ โปรตุเกสตั้งสถานีการค้าที่ช่องแคบมะละกาและมาเก๊า ต่อมาอังกฤษ ฝรั่งเศส ฮอลันดาก็เข้ามามีอิทธิพลเพื่อมุ่งทำการค้าและเผยแผ่ศาสนา การล่าอาณานิคมเริ่มกระทำจริงจังในศตวรรษที่ 19 – 20 ช่วงนี้ชาติตะวันตกเข้าแทรกแซงช่วยเหลือทำสงครามภายในของประเทศต่าง ๆ ในที่สุดตั้งรัฐในอารักขาแล้วเปลี่ยนจากประโยชน์ทางการค้ามาเป็นการเมืองโดยให้อาณานิคมเป็นฐานอำนาจของตน สหรัฐอเมริกายึดครองฟิลิปปินส์ ฝรั่งเศส ยึดครองเวียตนาม ลาว และเขมร ฮอลันดายึดครองอินโดนีเซีย อังกฤษยึดครองพม่า มลายู สิงคโปร์ และบอร์เนียวเหนือ ส่วนไทยไม่ตกเป็นอาณานิคมแต่ก็ต้องสูญเสียดินแดนจำนวนมาก
     
ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 เกิดขบวนการชาตินิยมขึ้นหลายประเทศพยายามดิ้นรนต่อสู้เพื่อเอกราชของประเทศตน สาเหตุสำคัญเพราะเห็นญี่ปุ่นเป็นต้นแบบการพัฒนา อินเดียเป็นแบบอย่างการเรียกร้องเอกราชประกอบกับชาวพื้นเมืองมีการศึกษามากขึ้น และลัทธิมาร์กซ์ เลนิน มีอิทธิพลหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อีกทั้งหลังสงครามโลกมหาอำนาจอ่อนแอในที่สุดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ได้รับเอกราชอย่างไรก็ตามก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายประการ ในด้านการเมืองการปกครอง ระบบรัฐชาติแบบใหม่ที่มีประชากร รัฐบาล อาณาเขต และอำนาจอธิปไตย ตลอดจนรูปแบบการเมืองแบบตะวันตก ด้านเศรษฐกิจ เปลี่ยนจากการผลิตตามความต้องการท้องถิ่นเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในตลาดโลกและเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับนานาประเทศเพิ่มมากขึ้น ด้านสังคม ได้นำเอาวิทยาการตะวันตกมาใช้อย่างแพร่หลายเพื่อการพัฒนาประเทศ เกิดการขยายตัวของเมือง ความคล่องตัวในการคมนาคมสื่อสาร และยังเกิดการรวมตัวของคนหลายชาติหลายศาสนา เพราะเจ้าอาณานิคมนำคนต่างชาติเข้ามา เช่น นำชาวจีนเข้ามาในพม่า มาเลเซีย หลังได้รับเอกราชเกิดปัญหาพอสมควร และยกเลิกธรรมเนียมเดิมบางอย่างเพื่อให้เข้ากับเหตุการณ์ปัจจุบัน ปัจจุบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นตลาดการค้าและกลุ่มเศรษฐกิจที่มีบทบาทในตลาดโลก คือ สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน ประกอบด้วยมาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงค์โปร์ ฟิลิปปินส์ ไทย บรูไน เวียดนาม ลาว พม่า กัมพูชา โดยเฉพาะสิงคโปร์เป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ แต่หลายประเทศของภูมิภาคนี้ก็ไม่เจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจเนื่องจากภาวการณ์เมืองภายในประเทศ เช่น กัมพูชา พม่า ลาว เป็นต้น

ความเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ทางยุทธศาสตร์ (Strategic Iandscape) ของเอเซีย
     
ตะวันออกเฉียงใต้เป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนนับตั้งแต่การยุติของสงครามเย็นเป็นต้นมา แต่เดิมภูมิภาคนี้ก็เหมือนกับภูมิภาคอื่น ๆ ในยุคสงครามเย็น ที่ภูมิทัศน์ทางการเมืองปรากฏอยู่ในรูปของการแบ่งค่าย (political bloc) ระหว่างค่ายตะวันตกและค่ายตะวันออก โดยมีอุดมการณ์ทางการเมืองเป็นดั่ง สถาปนิกที่กำหนดความเป็นไปและรูปลักษณะของภูมิทัศน์ดังกล่าว
     
ภูมิทัศน์ของความเป็นค่ายเช่นนี้เห็นได้ชัดเมื่อสงครามเย็นได้คืบคลานเข้าสู่ภูมิภาค นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองของจีนในปี พ.ศ. 2492 และสงครามเกาหลีเหนือในปี พ.ศ. 2493 มาจนถึงการพ่ายแพ้ของฝรั่งเศสที่เดียนเบียนฟูในปี พ.ศ. 2497 อันนำไปสู่การรวมตัวของประเทศทั้งในและนอกภูมิภาคเพื่อจัดตั้งระบบการป้องกันร่วม (collective defense) ที่นำโดยสหรัฐอเมริกาในปีดังกล่าวและรู้จักกันโดยทั่วไปในชื่อของ ซีโต้” (SEATO หรือ Southeast Asia Treaty Organization) หรือชื่อเต็มคือ องค์การสนธิสัญญาร่วมป้องกันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
     
สงครามเย็นในระยะเวลาต่อมาได้นำไปสู่สงครามเวียดนาม ซึ่งก็ได้กลายเป็นหนึ่งในการสงครามสำคัญของโลกในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ซึ่งถ้าเดียนเบียนฟูเป็นสัญลักษณ์ของความพ่ายแพ้ของมหาอำนาจฝรั่งเศสเช่นใด เวียดนามก็เป็นสัญลักษณ์ของความพ่ายแพ้ของมหาอำนาจอเมริกาเช่นนั้น
    
ภูมิทัศน์ของภูมิภาคเปลี่ยนแปลงไปหลังจากความพ่ายแพ้ของสหรัฐอเมริกาในเวียดนาม แต่ก็เป็นการตอกย้ำลักษณะการแบ่งค่ายสงครามเย็น กล่าวคือ ในทางภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitics) ของภูมิภาคนั้น ได้เกิดเส้นแบ่งที่ชัดเจนระหว่าปงระเทศในค่ายตะวันตกและตะวันออก ซึ่งแต่เดิมเส้นแบ่งเช่นนี้ไม่มี เพราะการต่อสู้ในเวทีสงครามเป็นเรื่องระหว่างรัฐบาลกับพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศของตนและประเทศที่ใช้ระบอบสังคมนิยมในการปกครองก็มีแต่เวียดนามเหนือเท่านั้น
     
ภูมิรัฐศาสตร์ใหม่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลังจากปี พ.ศ. 2518 จึงได้แก่การปรากฏตัวของการเป็นค่ายทางการเมืองที่ชัดเจนระหว่างกลุ่มประเทศนิยมตะวันตกหรืออาเซียน (ASEAN) และกลุ่มประเทศที่มีระบอบการปกครองเป็นแบบสังคมนิยมหรือกลุ่มอินโดจีน สหภาพเช่นนี้ทำให้การต่อสู้แข่งขันระหว่างค่ายตะวันตกและตะวันออกมีความรุนแรงขึ้นโดยปริยาย เพราะถ้าเป็นไปตามแนวคิด ทางการเมืองสหรัฐแล้ว การเปลี่ยนแปลงของประเทศในอินโดจีนทั้งสาม ย่อมจะนำไปสู่สถานการณ์ของการเปลี่ยนระบอบการปกครองของประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรีของไทย ซึ่งปรากฏการณ์เช่นนี้ถูกทำนายไว้ในลักษณะของการล้มตามกันของหมากโดมิโนหรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปในชื่อของ ทฤษฎีโดมิโน” (Domino Theory) อันเป็นคำอธิบายถึงการเปลี่ยนภูมิรัฐศาสตร์ของภูมิภาคในมุมมองของสหรัฐอเมริกา
     
เรื่องราวของการต่อสู้ทางการเมือง และทัศนะในการมองปัญหาในภูมิภาคเช่นนี้ ได้กลายเป็นปัจจัยกระตุ้นหรือเป็น ตัวเร่งทางการเมืองอย่างมากต่อบทบาทของมหาอำนาจในอันที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับการต่อสู้ดังกล่าว ดังจะเห็นได้ว่า บทบาทของสหรัฐอเมริกาค่อย ๆ ทวีขึ้น โดยเฉพาะหลังจากการก่อตั้งซีโต้ขึ้นแล้วพร้อม ๆ กับการถอนตัวของฝรั่งเศสออกจากเวียดนาม ซึ่งในที่สุดแล้วนำไปสู่การขยายอิทธิพลของสหรัฐในภูมิภาคนี้อย่างเห็นได้ชัดในเวลาต่อมา และก็ตามมาด้วยการเข้าสู่สงคราเวียดนาม อย่างเต็มตัวหลังจากวิกฤตการณ์อ่าวตังเกี๋ย
     
ในมุมมองของมหาอำนาจตะวันออก การขยายบทบาทของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคก็กลายเป็นปัจจัยกระตุ้นต่อการที่ทั้งจีนและสหภาพโซเวียตจะเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคนี้ด้วยเช่นกัน ประกอบกับจีนเองก็มีบทบาททางการเมืองในภูมิภาคมาแต่เดิมอยู่แล้ว ผลก็คือ ภูมิทัศน์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลายเป็น สนามประลองยุทธ์ระหว่างมหาอำนาจไปโดยปริยาย โดยมีประเทศในภูมิภาคเป็นสมาชิกและมีพื้นที่ของตนเองเป็นสนามประลองยุทธ์ในสงครามเช่นนี้ จนกระทั่งผลการต่อสู้สิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 2518 ด้วยชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศอินโดจีนและการถอนตัวของสหรัฐอันนำไปสู่การกำเนิดภูมิทัศน์ใหม่ที่มีกลุ่มประเทศสังคมนิยมเกิดขึ้นในภูมิภาคอย่างเห็นได้ชัด
     
ความซับซ้อนทางภูมิทัศน์ใหม่ไม่ใช่เป็นเพียงการแบ่งที่ชัดเจนระหว่างค่ายตะวันตกและค่ายตะวันออกเท่านั้น หากแต่ในระยะต่อมา ความขัดแย้งภายในค่ายสังคมนิยมเองก็ปะทุขึ้นจากปัญหาระหว่างเวียดนามกับกัมพูชา อันนำไปสู่การบุกรุกเข้ายึดครองกัมพูชาในต้นปี พ.ศ. 2522 แต่สงครามระหว่างประเทศ สังคมนิยมในภูมิภาคหาได้สิ้นสุดลงจากการยึดครองกัมพูชาแต่อย่างใดไม่ ในทางตรงกันข้ามปัญหานี้กลับกลายเป็นสงครายืดเยื้อ และนำพาเอาประเทศต่าง ๆ ทั้งในและนอกภูมิภาคเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยว่าที่จริงภูมิทัศน์แบบสงครามเย็นในภูมิภาคนี้สิ้นสุดลงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 แล้ว เพราะการสู้รบในกัมพูชาทำให้เส้นแบ่งค่ายแบบเดิมเปลี่ยนแปลงไป ดังจะเห็นได้จากปรากฏการณ์ของสงครามสั่งสอนของจีนต่อเวียดนามในปี พ.ศ. 2522 และความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างไทยกับจีน เป็นต้น คลอดรวมถึงใน ระดับโลก คือ ความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนในการต่อต้านอิทธิพลของโซเวียต
     
ภูมิทัศน์ของความเป็นสนามประลองยุทธ์ไม่ได้เปลี่ยนไป หากแต่มีการขยายตัวของเส้นแบ่งค่าย ความใกล้ชิดระหว่างสหรัฐกับจีน ระหว่างไทยกับจีน และระหว่างเวียดนามกับสหภาพโซเวียตเป็นตัวแทนของการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์นี้ ทั้งยังจะเห็นได้ว่า สงครามในภูมิภาคหลังจากปี พ.ศ. 2518 เป็นต้นมาไม่ใช่สงครามระหว่างค่ายทุนนิยมและสังคมนิยม หากแต่เป็นความขัดแย้งในสมาชิกของค่ายสังคมนิยมที่เสมือนอยู่กับคนละนิกาย และต่างฝ่ายก็มีหัวหน้านิกายของค่ายสังคมนิยมเป็นผู้ให้การสนับสนุน ความสนับสนุนทางเศรษฐกิจและการทหาร จนสงครามกลางเมืองในกัมพูชากลายเป็นสนามประลองยุทธ์หลังสงครามเวียดนาม
     
สงครามกลางเมืองของกัมพูชาเป็นอีกสงครามหนึ่งที่มีความรุนแรงและการสูญเสียอย่างมากของคริสต์ศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องราวของการสังหารโหดโดยกลุ่มเขมรแดง
     
สำหรับประเทศไทยแล้ว การเปลี่ยนแปลงของภูมิรัฐศาสตร์จากสหภาพภูมิทัศน์ใหม่ของภูมิภาคหลังจากปี พ.ศ. 2522 ทำให้ยุทธศาสตร์ความมั่นคงของไทยถูกนำไปเชื่อมโยงต่อทั้งกับพันธมิตรเก่าอย่างสหรัฐอเมริกาและกับหุ้นส่วนใหม่อย่างจีน และยังสะท้อนให้เห็นถึงสภาพแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ใหม่ของไทยที่พลังอำนาจทางทหารของจีนถูกนำมาใช้ในการต่อต้านการขยายอิทธิพลของโซเวียต เวียดนาม ซึ่งสำหรับคนไทยแล้วภัยคุกคามหลักหลังจากการยึดครองกัมพูชาของเวียดนามทำให้ไทยมีเป้าหมายโดยตรงอยู่ที่การลดระดับการคุกคามของเวียดนามลงให้ได้ ไม่ว่าจะกระทำด้วยวิธีใดก็ตาม
     
แต่แล้วในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2532 สงครามเย็นทำหน้าที่เป็น สถาปนิกในการจัดภูมิทัศน์ของคนในภูมิภาคก็มีอันสิ้นสุดลง โดยเริ่มจากการประกาศรวมของเยอรมนี ภูมิทัศน์ทางยุทธศาสตร์ของยุโรปเปลี่ยนแปลงไปดังสำนวนไทยที่ว่า เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือเพราะม่านเหล็กที่เคยขวางกั้นยุโรปออกเป็นสองส่วน ได้ถูกม้วนเก็บออกไปจากเวทีการเมืองโดยสิ้นเชิง ดังจะเห็นได้จากการสิ้นอำนาจของรัฐบาลสังคมนิยมในหลาย ๆ ประเทศ และยังนำไปสู่การถอนกองทหารของสหภาพโซเวียตออกไปจากดินแดนของยุโรปตะวันออก ซึ่งครั้งยุคของสงครามเย็นประเทศเหล่านี้มีฐานะดังเป็น รัฐบริวารและในทางภูมิศาสตร์พื้นที่ก็เป็นเสมือน เขตกันชนเพื่อขวางกั้นการรุกรานทางทหารของโลกตะวันตกที่อาจจะเกิดขึ้นได้
     
เมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดในยุโรป ต่อมาสงครามเย็นก็สิ้นสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยและความเป็นค่ายทางการเมืองก็ได้ยุติลงโดยสิ้นเชิงเมื่อเวียดนามเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มอาเซียน ซึ่งครั้งหนึ่ง เคยมีฐานะเป็น คู่ต่อสู้โดยตรงของสงครามอุดมการณ์ในภูมิภาค อีกทั้งยังได้มีการรับเอาชาติอื่น ๆ ในภูมิภาคเข้ามาเป็นสมาชิก โดยเฉพาะในกรณีของพม่าด้วย จนเห็นได้ชัดในมิติของภูมิรัฐศาสตร์ว่าอาเซียนก็คือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยรวมนั่นเอง และอาจกล่าวได้ว่า เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 พร้อม ๆ กับการได้รับเอกราชของบรรดาอาณานิคมในภูมิภาคแล้ว เอเซียตะวันออกเฉียงใต้มีเอกภาพและมีสันติภาพอย่างไม่เคยมีมาก่อน แม้จะมีปัญหาภายในของแต่ละประเทศดำรงอยู่ก็ตาม
     
ภูมิทัศน์ของภูมิภาคเกิดความเปลี่ยนแปลง เมื่อติมอร์ตะวันออกได้รับเอกราชเป็นประเทศใหม่ เอกราชของติมอร์ก็มีส่วนในการทำให้ชนกลุ่มน้อยที่กำลังต่อสู้กับรัฐบาลกลางของประเทศตนด้วยกำลังอาวุธมีความหวังว่า สักวันหนึ่งพวกเขาอาจจะประสบความสำเร็จในการสร้างประเทศใหม่ โดยการแยกตัวออกจากประเทศเดิม เพราะเป็นครั้งแรกที่มีประเทศเกิดใหม่ในภูมิภาคขึ้น นับตั้งแต่การได้รับเอกราชของประเทศอาณานิคม อีกทั้งชนกลุ่มน้อยในหลาย ๆ ส่วนล้วนแต่ต้องต่อสู้เพื่อเอกราชของตนมาก่อนที่ปัญหาติมอร์ตะวะนออกจะทวีความรุนแรงจนกลายเป็นการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธเสียอีก
     
แต่ความหวังของพวกเขาอาจจะไม่ง่ายเหมือนกับสถานการณ์ในติมอร์ก็ได้ เพราะ
ความสำเร็จของติมอร์มีปัจจัยหลาย ๆ ประการที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นบทบาทของสหประชาชาติ การเข้ามาแทรกแซงของมหาอำนาจตะวันตก หรือวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่มีผลบีบคั้นให้รัฐบาลอำนาจนิยม ขณะนั้นต้องลงจากอำนาจ
    
ฉะนั้น การแยกตัวออกของชนกลุ่มน้อยในสภาวะทางการเมืองปัจจุบันอาจจะเกิดขึ้นได้
ยาก และอาจนำมาซึ่งปัญหาเสถียรภาพของภูมิภาคได้ เว้นเสียแต่จะมีการสนับสนุนของมหาอำนาจอย่างมากคล้ายกับสถานการณ์ติมอร์ ปัญหานี้ยังไม่น่ามีผลมากนัก แม้จะมะสถานการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นในกรณีของอินโดนีเซียหรือกรณีของพม่าก็ตาม
    
ความเปลี่ยนแปลงประการสำคัญของภูมิทัศน์ใหม่เกิดขึ้นอีกครั้งจากสถานการณ์ก่อการร้ายเมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2544 เมื่อกลุ่มการเมืองที่มีความคิดทางศาสนาแบบจารีตนิยม (religious fundamentalism) ถูกมองว่ามีความเชื่อมโยงกับกลุ่มอัลกอร์อิดะห์ ซึ่งสหรัฐเชื่อว่าเป็นกลุ่มที่อยู่เบื้องหลังการโจมตีสหรัฐในวันที่ 11 กันยายน คือ กลุ่มอาบูไซยัพในฟิลิปปินส์ และกลุ่มเจ.ไอ. ที่มีศูนย์กลางอยู่ในอินโดนีเซีย แต่มีเครือข่ายอยู่ทั่วทั้งภูมิภาค
     
การขยายตัวของสงครามต่อต้านการก่อการร้ายเข้าสู่ภูมิภาคเริ่มค้นเมื่อกำลังรบของสหรัฐอเมริกาถูกส่งมายังฟิลิปปินส์เพื่อจัดการกับกลุ่มอาบูไซยัพ พร้อม ๆ กับการผลักดันให้ประเด็นเรื่องนี้เป็นวาระความมั่นคงของกลุ่มอาเซียน ดังจะเห็นได้ว่า ทุกเวทีของการสัมมนาเรื่องความมั่นคงหลังจากกรณี 11 กันยายน พ.ศ. 2544 แล้วจะต้องมีเรื่องของการก่อการร้ายด้วยเสมอ และขณะเดียวกันผู้นำของอาเซียนก็ดูจะยอมรับในวาระเช่นนี้ด้วย ดังจะเห็นได้ว่า ประเทศในภูมิภาคได้ยกระดับความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างกันมากขึ้น
     
ในขณะเดียวกันการก่อการร้ายก็ขยายตัวเข้ามาสู่ภูมิภาคเช่นกัน การวางระเบิดในอินโดนีเซียไม่ว่าจะเป็นกรณีที่บาหลี และกรณีจาการ์ตา หรือในฟิลิปปินส์พร้อม ๆ กับการขยายเครือข่ายของกลุ่มเจ.ไอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ล้วนแต่เป็นเครื่องยืนยันถึงองค์ประกอบใหม่ของภูมิทัศน์ที่มีความเปลี่ยนแปลง
     
ผลจากสภาพเช่นนี้ไม่ได้ทำให้ภูมิภาคเปลี่ยนสภาพจากความเป็นสนามประลองยุทธ์แต่อย่างใดหากแต่สภาพสถานการณ์ใหม่ก็นำไปสู่การมีคู่สงครามใหม่ ซึ่งเป็นกรณีระหว่างการก่อการร้ายและการต่อต้านการก่อการร้าย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ระหว่างฝ่ายตะวันตกที่นำโดยสหรัฐและชาติพันธมิตรตะวันตกกับฝ่ายต่อต้านตะวันตกที่อยู่ในรูปของขบวนการศาสนจารีตนิยม
     
การประลองยุทธครั้งใหม่นี้มีความละเอียดอ่อนมากขึ้น เพราะประเด็นมีความเกี่ยวพันกับเรื่องของศาสนาและจิตวิญญาณของศาสนาอิสลามอย่างมาก ซึ่งก็ทำให้รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ต้องระมัดระวังในการดำเนินนโยบายความมั่นคง เพราะฉะนั้นแล้วอาจจะเป็นการนำพาความขัดแย้งมาสู่สังคมภายในได้โดยง่าย
    
นอกจากนี้บทบาทของอภิมหาอำนาจเดียวของโลกอย่างสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีลักษณะของการดำเนินนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงแบบ เอกภาคีหรือแบบ อัตตนิยม” (unilateralism) ก็อาจจะส่งผลให้ภูมิทัศน์ของภูมิภาคมรความเป็นสนามรบได้ ถ้ากิจกรรมของการก่อการร้ายขยายตัวมากขึ้นและสหรัฐตัดสินใจที่จะขยายเวทีการต่อต้านการก่อการร้ายเข้าสู่ภูมิภาคนี้ด้วยมาตรการทางการทหารเช่นในฟิลิปปินส์ อีกทั้งการแข่งขันอิทธิพลระหว่างสหรัฐกับจีนก็เป็นปัจจัยที่มีผลต่อภูมิทัศน์ อันทำให้เวทีในภูมิภาคนอกจากจะเป็นสนามประลองยุทธ์เรื่องของการก่อการร้ายแล้วก็ยังจะเป็นสนามแข่งขันระหว่างมหาอำนาจอีกด้วย ซึ่งจีนเองก็มีความกังวลต่อการขยายอิทธิพลอย่างมากนับตั้งแต่สหรัฐประสบความสำเร็จในการสร้างเขตอำนาจของตนในเอเชียกลางแล้ว ฉะนั้นจึงเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ไม่ยากที่จีนย่อมจะต้องจับตามองบทบาทของสหรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างใกล้ชิด
     
สิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวในข้างต้นสะท้อนให้เห็นถึงภูมิทัศน์ของภูมิภาคซึ่งยังคงลักษณะเดิมในการเป็น สนามประลองยุทธ์โดยที่คู่ของการประลองก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัยอันเป็นผลมาจากการพัฒนาการทางการเมืองและยุทธศาสตร์ทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาค และไม่ว่าจะลงเอยเช่นไรก็ตาม รัฐและสังคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือผู้รับผลกระทบจากการนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้นั่นเอง

พัฒนาการของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

     
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หมายถึง ดินแดนส่วนที่อยู่ทางใต้ประเทศจีนไปจดมหาสมุทรแปซิฟิก มีความแตกต่างกันทั้งทางด้านชาติพันธ์ ภาษา และศาสนา ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของประเทศพม่า (เมียนม่า) ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน และติมอร์ตะวันออกในอดีตดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้เป็นกึ่งกลางระหว่างโลกอารยธรรมที่เจริญแล้ว คืออารยธรรมอินเดียและอารยธรรมจีน โดยมีสภาพภูมิศาสตร์ที่เป็นทำเลเหมาะสมที่จะเป็นศูนย์กลางการค้าระหว่างประเทศในแถบเอเชียและเป็นภูมิภาคที่มีความอุดมสมบูรณ์ นอกจากนี้ได้มีชนหลายเชื้อชาติหลายเผ่าพันธุ์ อพยพเข้ามาอยู่ในแถบนี้ จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่าดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ร่องรอยความเจริญ ได้แก่ การรู้จักทำเครื่องประดับด้วยการแกะสลัก การทำเครื่องปั้นดินเผา ทอผ้า เลี้ยงสัตว์ และปลูกข้าว
     
พัฒนาการทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มขึ้นเมื่อการหลั่งไหลเข้ามาของชาวจีนและอินเดีย แต่ก่อนที่จะรับอิทธิพลจากอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความเจริญอยู่แล้ว เช่น รู้จักการปลูกข้าวโดยการทดน้ำเข้านา เลี้ยงสัตว์ ได้แก่ วัว ความ รู้จักการใช้โลหะ และมีความชำนาญในการเดินเรือ การเข้ามาของจีนและอินเดียมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ เช่น การขยายวงการค้าจากระดับหมู่บ้านมาสู่การค้าระดับประเทศ เมื่อจีนและอินเดียได้เข้ามาติดต่อค้าขายทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนสินค้า และพ่อค้าจีนและอินเดียจะเป็นผู้นำสินค้าออกไปสู่ตลาดต่างประเทศ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าสู่ยุคการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง เมื่อตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตกในคริสต์ศตวรรษที่ 18 – 19
     
ระบบเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก่อนชาติตะวันตกเข้ามา คือ ระบบเศรษฐกิจที่มีเกษตรกรรมเพื่อยังชีพ อุตสาหกรรมในครอบครัว และการค้าแลกเปลี่ยนสินค้า เมื่อลัทธิอาณานิคมตะวันตกแผ่ขยายเข้ามา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงกลายเป็นทางผ่านของประเทศยุโรปและอเมริกาที่ต้องการและการแสวงหาผลประโยชน์ทางการค้า จากอินเดีย จีน ญี่ปุ่น การผลิตทางเกษตรกรรมแบบเดิมได้ขยายตัวออกไปมากขึ้น เป็นการผลิตเพื่อการส่งออก เมื่อดินแดนหลายแห่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
     
ชนชาติที่อาศัยอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีพัฒนาการทางการเมืองการปกครองเรื่อยมาการจัดตั้งอาณาจักรที่เจริญรุ่งเรืองและเสื่อมโทรมหมุนเวียนกันไป เนื่องจากได้ผสมผสานอารยธรรมดั้งเดิมของตนกับอารยธรรมที่รับจากอินเดีย ส่วนจากจีนเป็นส่วนน้อย บริเวณที่ได้รับอิทธิพลของศาสนาฮินดู เช่น เขมร ลาว ไทย พม่า จะได้แนวคิดแบบเทวราช คือ กษัตริย์เป็นตัวแทนของเทพเจ้านอกเหนือจากการเป็นนักรบและผู้ทำนุบำรุงการเกษตร แนวคิดแบบธรรมราชาเป็นอิทธิพลของพระพุทธศาสนา แหลมมลายูและหมู่เกาะมลายูเป็นบริเวณที่รับอิทธิพลของศาสนาอิสลามใช้ระบบการปกครองแบบสุลต่าน สำหรับเวียดนามมีการปกครองระบบจักรพรรดิภายใต้อิทธิพลของลัทธิขงจื้อ
     
ก่อนการแผ่ขยายลัทธิอาณานิคมเข้ามาในภูมิภาคนี้ ดินแดนต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ล้วนมีอำนาจอธิปไตยของตนเองและมีการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยมีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศ เมื่อชาวตะวันตกแผ่อิทธิพลเข้ามาดินแดนในภูมิภาคนี้เป็นรัฐใต้อารักขาของประเทศตะวันตก ยกเว้นประเทศไทย การจัดการปกครองในพม่า ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ประเทศเมืองแม่เข้าปกครองโดยตรง สถาบันพระมหากษัตริย์ถูกยกเลิก เมื่อประเทศเหล่านี้ได้รับเอกราชจะใช้ระบบสาธารณรับปกครอง เนื่องจากขาดตำแหน่งประมุขโดยตรงที่จะสืบเชื้อสายไปแล้ว สำหรับเวียดนาม ลาว กัมพูชา มลายู บรูไน มีลักษณะเป็นรัฐอารักขา ประเทศเมืองแม่ยินยอมให้สถาบันพระมหากษัตริย์ปกครองอยู่ต่อไป โดยเข้าควบคุมกิจการต่างประเทศ การคลัง การทหาร ส่วนประเทศไทยแม้รักษาเอกราชไว้ได้แต่ก็ต้องปรับปรุงประเทศให้เป็นแบบตะวันตก ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทยมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไปและเกิดขึ้นเองภายในประเทศ
     
มหาอำนาจตะวันตกที่ปกครองภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะเน้นการฟื้นฟูฐานการปกครองระบอบเสรีประชาธิปไตยเป็นสำคัญ โดยเฉพาะนโยบายชองสหรัฐอเมริกาในฟิลิปปินส์ และอังกฤษในมลายู กล่าวคือ การวางรากฐานสถาบันทางการเมือง การเปิดโอกาสให้ชาวพื้นเมืองได้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง การส่งเสริมการศึกษา การใช้รัฐธรรมนูญ เป็นต้น
     
ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ขบวนการชาตินิยมที่เกิดขึ้นได้ส่งผลให้ประเทศในภูมิภาคนี้ได้รับเอกราช และมีผลต่อการจัดรูปแบบการเมืองการปกครองสมัยใหม่ ส่วนใหญ่รับเอารูปแบบของประเทศทางตะวันตกมาใช้ เช่น มาเลเซียรับเอาระบบรัฐสภาของอังกฤษมาใช้ ฟิลิปปินส์รับเอาระบอบประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกามาใช้ ต่อมาได้พัฒนาเปลี่ยนแปลงมาดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
    
จากสภาพสังคมที่ขาดรากฐานประสบการณ์ทางการเมือง และพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่จะสร้างพลังทางการเมืองขึ้นมาได้ ทำให้กระบวนการทางการเมืองในประเทศเหล่านี้ไม่สามารถดำเนินไปได้เช่นเดียวกับตะวันตก หลายประเทศใช้แนวทางสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ เช่น เวียดนาม ลาว ส่วนประเทศที่ใช้การปกครองระบอบประชาธิปไตย เช่น ไทย กัมพูชา มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ก็ประสบปัญหาความไม่มั่นคงของระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากผู้บริหารประเทศใช้วิถีทางการเมืองยึดครองอำนาจไว้เป็นเวลานานมาก หรือมีการปกครองโดยรัฐทหาร เช่น พม่า
    
ความไม่มั่นคงของระบอบประชาธิปไตยทำให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการปกครองระบอบประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ในภูมิภาคนี้ สำหรับบรูไนนั้นมีการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สุลต่านยังคงเป็นสถาบันหลักของสังคม ปัจจุบันภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแผนการและขั้นตอนการดำเนินงานที่จะพัฒนาศักยภาพความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างชัดเจน แต่ปัญหาที่มีมานานและยังดำรงอยู่ เช่น ปัญหาการเมืองภายในเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่า ปัญหาการสู้รบภายในกัมพูชา การต่อต้านรัฐบาลซูฮาร์โตที่มากขึ้นและต่อเนื่องในอินโดนีเซีย
     
ปัจจุบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รวมตัวกันทุกชาติในภูมิภาคภายใต้กรอบทางสถาบันเดียวกันทำให้จุดมุ่งหมายของการเป็น อาเซียน 10” ประสบความสำเร็จ แต่ภารกิจที่รออยู่ข้างหน้า คือ การสร้างความกลมกลืนในท่าทีแนวทางนโยบายและความแตกต่างในแง่ของระดับการพัฒนาระหว่างสมาชิกเดิมและสมาชิกใหม่ หาลู่ทางให้กลุ่มประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ร่วมมือใกล้ชิดกันในเรื่องต่าง ๆ ด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรมพัฒนาการในเอเชียตะวันตกเฉียงใต้



1 ความคิดเห็น: